ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรกของโลก ความบันเทิงจากลายเส้น

ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรกของโลก ความบันเทิงจากลายเส้น

ภาพยนตร์แอนิเมชัน เป็นการถ่ายทอดจินตนาการสุดสร้างสรรค์ที่มนุษย์สร้างขึ้น สร้างความบันเทิงให้กับผู้คนมาอย่างยาวนาน วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับการ์ตูนเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ ที่เกิดขึ้นบนโลก จะน่าสนใจขนาดไหน ไปติดตามกัน

ตอนปลายศตวรรษที่ 19 ต่อศตวรรษที่ 20 มีความพยายามมากมายที่จะสร้างภาพลายเส้นเคลื่อนไหวปรากฏต่อสายตา มีเทคโนโลยีและกล้องชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีชื่อเรียกแปลก ๆ แต่ทั้งหมดทั้งปวงที่ได้มาก็มิอาจเรียกได้ว่าคือหนังการ์ตูน เพราะภาพที่เคลื่อนไหวเหล่านั้นเป็นได้เพียงแค่เงา อันที่จริงบรรพบุรุษของหนังการ์ตูนอาจจะมีปรากฏอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่จำเพาะที่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของยุโรปและอเมริกา หนึ่งในบรรพบุรุษเหล่านั้นสามารถพบได้ในบ้านเราทุกวันนี้ด้วย นั่นคือหนังตะลุง

หนังการ์ตูนในแบบที่เราคุ้นเคยกันจริงๆเริ่มขึ้นในตอนต้นศตวรรษที่ 20 โดยมีบุคคลสำคัญหลายคนช่วยกันสร้างมันขึ้นมา เรื่องราวของบุคคลเหล่านั้นน่าสนุก มีการแข่งขันและมีการช่วงชิง สนุกสนานมากพอที่จะนำไปสร้างเป็นหนังเรื่องหนึ่งได้เลยทีเดียว

ต่อไปนี้คือเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่ง “ตามหาการ์ตูน” ได้ตัดทอนรายละเอียดลงมาก เหลือไว้เพียงบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับ บางคนสงสัยว่าเมื่อแรกเริ่มมีหนังการ์ตูนนั้น ศิลปินอดทนลำบากวาดภาพซ้ำ ๆ 24 ภาพเพื่อฉายให้เห็นการเคลื่อนไหวเพียง 1 วินาทีได้อย่างไร พวกเขาเอาแรงงาน และความเพียรพยายามมาจากไหน บางคนสงสัยว่าทำไมตัวการ์ตูนอเมริกันสมัยเริ่มแรก จึงดูเหมือนมิคกี้เมาส์ไปหมด คือเป็นแท่งมนๆสีดำ มีแขนมีขา มีตามีหู ขยับไปมาได้ดูน่ารำคาญมากกว่าน่ารัก ทั้งหมดที่เห็นนั้นอยู่รอดมาจนเป็นการ์ตูนแสนน่ารักเช่นทุกวันนี้ได้อย่างไร

“ตามหาการ์ตูน” ในตอนนี้จะช่วยให้เราพบคำตอบซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่ง สำหรับสภาพสังคมและวัฒนธรรมในตอนต้นศตวรรษที่ 20 บุคคลสำคัญสี่คนแรกคือ Winsor McCay, Raoul Barre, Earl Hurd และ John Rudolph Bray ซึ่งเป็นสี่คนที่ได้เริ่มต้นสร้างหนังการ์ตูน ปรับปรุงเทคโนโลยี และทำให้มันเข้มแข็งในด้านการตลาด จนอาจกล่าวได้ว่าเข้มแข็งจนถึงทุกวันนี้

คนสำคัญที่สุดคือ วินเซอร์ แม็กเคย์ เกิดเมื่อ 26 กันยายน 1867 เขาเป็นศิลปินโดยกำเนิดอย่างแท้จริง สามารถเขียนรูปวาดรูปได้ทุกที่ทุกเวลาอย่างมีความสุข โดยไม่สนใจคำวิจารณ์ของคนรอบข้างแต่อย่างใด

Little Nemo in Slumberland

เขาเริ่มงานอาชีพด้วยการรับจ้างเขียนโปสเตอร์ ก่อนที่จะไปทำงานหนังสือพิมพ์ และเขียนการ์ตูนช่องให้แก่หนังสือพิมพ์ในที่สุด ผลงานชิ้นสำคัญของเขาที่รู้จักกันดีคือ Little Nemo in Slumberland ปี 1905

ภาพยนตร์การ์ตูนแบบเล่ม

เมื่อถึงปี 1909 เขาสร้างนวัตกรรมใหม่ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของอะนิเมชั่นในเวลาต่อมา นั่นคือ flipper คือภาพการ์ตูนที่เย็บเป็นเล่ม เพื่อนำมาเปิดเร็วๆ แล้วจะเห็นการเคลื่อนไหวของตัวการ์ตูน ผลงานชิ้นนี้จะแถมไปกับหนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์

กล่าวเฉพาะการ์ตูนช่องของ วินเซอร์ แม็กเคย์ ก็ต่างจากนักเขียนการ์ตูนคนอื่น ขณะที่นักเขียนการ์ตูนทั่วไปมักเขียนกรอบต่อกรอบ ให้มีการดำเนินเรื่องไปค่อนข้างเร็ว แต่แม็กเคย์มักจะย่ำอยู่กับที่เพื่อเก็บรายละเอียดค่อนข้างมาก

 Sammy Sneeze

ยกตัวอย่างการ์ตูนเรื่อง Sammy Sneeze ปี 1905 เขาใช้ถึงสี่กรอบในการวาดหน้าตาของตัวการ์ตูนก่อนที่จะจาม ตั้งแต่สูดลม ย่นจมูก ย่นหน้า อ้าปาก แล้วค่อยจามในกรอบที่ 5 ตามด้วยการถอนหายใจในกรอบที่ 6 ทั้งหมดนี้เข้าใกล้ แอนิเมชั่น อยู่ก่อนแล้ว

เมื่อถึงเดือนเมษายน ปี 1911 เขาฉายหนังการ์ตูนเรื่องแรกของโลกคือ Little Nemo ซึ่งเป็นเพียงภาพเคลื่อนไหวของตัวการ์ตูนต่าง ๆ จากการ์ตูนช่องที่สร้างชื่อเสียงให้เขาเอง เขาเขียนภาพทั้งหมดประมาณ 4,000 ภาพ โดยใช้หมึกอินเดียนอิ๊งค์วาดบนกระดาษ และใช้กรอบไม้ในการตรึงภาพ เสร็จแล้วนำไปถ่ายด้วยฟิล์มภาพยนตร์ที่สตูดิโอ

เขาสร้างหนังการ์ตูนเรื่องที่ 2 คือ How a Mosquito Operates ในปีถัดมา ตามด้วยอะนิเมชั่นซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนังการ์ตูนที่มีเนื้อเรื่องเป็นเรื่องแรกคือ Gertie the Dinosaur (1914)

อันจะเป็นหนังการ์ตูนที่สร้างแรงบันดาลใจ และชักนำให้เด็กหนุ่มจำนวนมาก ก้าวเข้าสู่วงการอะนิเมชั่น และช่วยกันพัฒนาหนังการ์ตูนในเวลาต่อมา

เมื่อถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 1915 เรือดำน้ำเยอรมันยิงตอร์ปิโดเข้าใส่เรือลูสิตาเนีย ที่นอกฝั่งประเทศไอร์แลนด์ มีผู้เสียชีวิต 1,198 คน เป็นชาวอเมริกัน 124 คน แม็กเคย์เขียนภาพ 25,000 ภาพเพื่อแสดงเหตุการณ์ดังกล่าว

เพียงสี่ปีหลังการฉายเกอร์ตีเดอะไดโนซอร์ สตูดิโอมากมายก็ผุดขึ้น เพื่อสร้างหนังการ์ตูนป้อนตลาด หากเป็นแม็กเคย์ เขาจะใช้เวลาหลายเดือนในการผลิตการ์ตูนสักหนึ่งเรื่อง แต่สำหรับสตูดิโอเหล่านี้มักใช้วิธีเพิ่มศิลปิน และเร่งผลงานให้ออกสู่ตลาดเร็วที่สุด

ราอูล แบร์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อตั้งสตูดิโอเพื่อผลิตอะนิเมชั่นเป็นคนแรกในปี 1913 ก่อนหน้านี้เขาเป็นนักเขียนการ์ตูนที่มีผลงานในฝรั่งเศส แคนาดา และอเมริกา สตูดิโอของเขาให้โอกาสนักวาดการ์ตูนปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตอะนิเมชั่น หนึ่งในนั้นคือ การใช้หมุดตรึงกระดาษให้ติดแน่นกับที่ เพื่อช่วยลดความคลาดเคลื่อน ในการกำหนดตำแหน่งของทั้งฉากหลังและตัวการ์ตูน 

 การวาดภาพฉากหลังในช่วงแรกต้องวาดซ้ำ ๆ อยู่เช่นนั้นทุกแผ่น ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นวาดครั้งเดียวแล้วใช้วิธีตัดกระดาษเป็นรูปตัวการ์ตูนเข้าช่วย บางครั้งศิลปินก็จะใช้วิธีวาดฉากหลังให้ยาวมากเข้าไว้ แล้วอาศัยการเลื่อนฉากหลัง เพื่อสร้างภาพการเคลื่อนไปข้างหน้าของตัวการ์ตูน

ประมาณว่าครึ่งหนึ่งหรืออาจจะถึงสองในสามของการ์ตูนขาวดำยุคหนังเงียบเหล่านี้ ที่เสื่อมสภาพหรือหายสาบสูญไป ทั้งนี้เป็นเพราะมีศิลปินจำนวนมากมายได้ลงแรง และทดลองเทคนิคต่างๆ เพื่อการผลิตที่ดีที่สุด และเร็วที่สุด

ราอูล แบร์ ต้องออกจากสตูดิโอที่เขาสร้างมากับมือในปี 1919 ก่อนที่จะกลับมาร่วมงานกับ Pat Sullivan ในปี 1926 เพื่อสร้างหนังการ์ตูนที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคหนังเงียบนั่นคือ Felix the Cat ผลงานปี 1919 ของ Otto Messmer

เอิร์ล เฮิร์ด เป็นคนแรกที่ริเริ่มใช้แผ่นเซลลูลอยด์ใสในการวาดการ์ตูน เพื่อนำไปถ่ายทำเป็นอะนิเมชั่น เรียกแผ่นเซลลูลอยด์นี้ว่า cel ซึ่งจะเป็นมาตรฐานของการสร้างหนังการ์ตูนตลอดทั้งศตวรรษที่ผ่านมา เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไม่มีใครรู้ประวัติของ เอิร์ล เฮิร์ด มากไปกว่านี้อีกเลย

บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น เฮนรี ฟอร์ด แห่งวงการอะนิเมชั่น คือ จอห์น แรนดอล์ฟ เบรย์ เขาเป็นคนแรกที่จับงานผลิตหนังการ์ตูนอย่างครบวงจร ทั้งการผลิตและการจัดจำหน่าย เขาดูแลศิลปิน ก่อตั้งสตูดิโอ ถ่ายทำเป็นหนังการ์ตูน และจดลิขสิทธิ์เทคโนโลยีการสร้างอะนิเมชั่นทุกขั้นตอน

การจดลิขสิทธิ์ของเบรย์ทำให้ใครที่คิดจะสร้างหนังการ์ตูนต้องขออนุมัติจากเขาก่อน เรื่องนี้สร้างความขุ่นเคืองใจให้แก่ผู้สร้างหลายราย โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่ เกิดขึ้นจากการพัฒนาของแม็กเคย์ ราอูล และเฮิร์ดเสียมากกว่า อย่างไรก็ตามกว่าที่ลิขสิทธิ์ของเบรย์จะหมดอายุ และอะนิเมชั่นกลายเป็นสมบัติสาธารณะก็เป็นปี 1932

สตูดิโอของเบรย์สร้างหนังการ์ตูนสีเรื่องแรกของโลกคือ The Debut of Thomas Cat ปี 1920 เรียกเทคโนโลยีการลงสีนี้ว่า Brewster Color ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างเงียบเชียบ เทียบกันไม่ได้เลยกับคุณภาพและชื่อเสียงที่ดิสนีย์ได้รับจากหนังการ์ตูนสี Technicolor เรื่องแรกของโลกคือ Flowers and Trees หรือ พฤกษามาลี ปี 1932

ก่อนที่ดิสนีย์จะมา ศิลปินอะนิเมชั่นจำนวนมาก ยอมรับว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไรมากนัก กับเนื้อเรื่องของหนังการ์ตูนในยุคขาวดำ และไม่มีเสียงเหล่านี้ พวกเขาไม่มีบท ไม่มีสตอรีบอร์ด มีเพียงมุข (gag) และความพยายามที่จะสร้างภาพเคลื่อนไหวให้ดูดีที่สุดเท่านั้นเอง

วอลต์ ดิสนีย์ เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปี 1901 เขาและเพื่อนรักคนสำคัญ Ub Iwerks ร่วมงานกันมาตั้งแต่อายุ 18 พวกเขาสร้าง Little Red Riding Hood เมื่อปี 1922 และ Alice’s Wonderland เมื่อปี 1923 แล้วสร้าง Alice เป็นซีรีส์นักแสดงผสมอะนิเมชั่นอยู่พักหนึ่ง จนกระทั่งปี 1926 ไอเวิร์กสร้างการ์ตูนดังตัวแรกให้แก่วอลต์นั่นคือ Oswald the Lucky Rabbit

เพียงไม่นานวอลต์ก็เสียออสวอลด์ให้แก่สตูดิโออื่น เพราะความอ่อนด้อยทางธุรกิจ จึงเป็นเวลาที่เขาและไอเวิร์กส์ สร้างมิคกี้เมาส์ กำเนิดมิคกี้เมาส์บนรถไฟ สร้างความสนใจให้แก่สาธารณชนมากพอ ๆ กับรูปร่างของเขา นอกจากนี้มิคกี้เมาส์ยังสร้างประวัติศาสตร์ให้ตนเอง เมื่อดิสนีย์และไอเวิร์กส์สร้างหนังเสียงให้แก่มิคกี้คือ Steamboat Willie (1928) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนังการ์ตูนเสียงเรื่องแรก

อันที่จริง Max Fliescher เคยสร้าง Song Car-Tunes เป็นหนังเสียงเรื่องแรกในปี ๑๙๒๔ แต่ไม่เป็นที่สนใจ ต่างกันกับหนังเสียงของมิคกี้เมาส์ที่ได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลาม
หลังจากนี้ดิสนีย์ได้สร้างการ์ตูนสั้นหลายเรื่อง ที่รู้จักกันดีคือ ลูกเป็ดขี้เหร่ (The Ugly Duckling, 1931) พฤกษามาลี (Flowers and Trees, 1932) ลูกหมูสามตัว (The Three Little Pigs, 1933) กระต่ายกับเต่า (The Tortoise and The Hare, 1935) ลูกแมวสามตัว (Three Orphan Kitten, 1935) หนูบ้านนอก (The Country Cousin, 1937) และโรงสีร้าง (The Old Mill, 1937)

แอนิเมชันในไทย

ภาพยนตร์แอนิเมชัน ในไทย เชื่อว่าหลายคนคงคาดไม่ถึงว่าไทยเราก็มีภาพยนตร์แอนิเมชันมานานหลายร้อยปีแล้วเช่นกัน ตรงนี้ผมขอหยุดให้เดากันสักนิดเพื่อจะได้ไม่เบื่อ ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรก ๆ ของไทยคืออะไร ? นึกครับนึก ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก… เอาล่ะ ผิดครับ ไม่ใกล้เลย ไม่ใช่สุดสาคร พระอภัยมณี หรือวรรณคดีไทยใด ๆ ทั้งสิ้น

ภาพยนตร์แอนิเมชัน เรื่องแรก ๆ สุดของไทยนั้นไม่มีการถ่ายลงบนแผ่นฟิล์มครับ แต่เป็นภาพยนตร์การ์ตูนแบบตัด (Cutout) มีตัวพระตัวนางเป็นการ์ตูน เคลื่อนไหวได้ทั้งสองแขน ปากขยับได้ ตากระพริบได้ และมาจากถิ่นปักษ์ใต้ ใช่แล้ว หนังตะลุงนั่นเอง แต่อาจเพราะประเทศไทยยังขาดผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการผลิตภาพยนตร์การ์ตูน อุตสาหกรรมแอนิเมชันบ้านเราจึงไม่มีการพัฒนาเป็นชิ้นเป็นอันนัก

จนกระทั่งในปีพ.ศ.2488-2489 (ค.ศ.1945-1946 – ตรงกับช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่สงครามโลกไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาอุตสาหกรรมแอนิเมชันบ้านเราครับ) เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน นักวาดเขียนที่มีฝีมือมีชื่อเสียงในสมัยนั้นได้ศึกษาและทดลองผลิตภาพยนตร์การ์ตูนด้วยตนเอง ถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ขำขัน ทดลองบนแผ่นฟิล์มภาพยนตร์ขนาด 16 มม. นำเสนอทางรัฐบาลไทยผ่านโรงภาพยนตร์ทหารอากาศ แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนด้วยเหตุผลที่ว่าการ์ตูนเป็นเรื่องไร้สาระ ซึ่งเข้าใจว่าเสน่ห์ คล้ายเคลื่อนอาจได้รับแรงบันดาลใจจากการได้ชมภาพยนตร์การ์ตูนที่ทดลองผลิตเป็นเรื่องเกี่ยวกับชาวนา เพื่อนำไปใช้อบรมพัฒนาให้มีความศิวิไลซ์ตามนโยบายของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ปยุต เงากระจ่าง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 ปยุต เงากระจ่าง นักวาดเขียนฝีมือดีอีกคน ได้พยายามศึกษาจากเอกสารต่างประเทศเท่าที่หาได้ และค้นคว้าโดยไถ่ถามความรู้เทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์การ์ตูนจากคนที่เคยร่วมงานกับเสน่ห์มาก่อน ทาให้เกิดภาพยนตร์เรื่องแรกของไทย ชื่อ “เหตุมหัศจรรย์” โดยเป็นภาพยนตร์การ์ตูนสี

ในปีพ.ศ. 2500 ปยุต เงากระจ่างก็ได้รับทุนสนับสนุนให้สร้างภาพยนตร์การ์ตูนอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง “เด็กกับหมี ” โดยความร่วมมือกันของสมาชิกของประเทศซีโต้ (SEATO) ช่วงนี้ปยุตได้มีโอกาสผลิตภาพยนตร์การ์ตูนอีก แต่เป็นภาพยนตร์การ์ตูนโฆษณาโดยได้รับการติดต่อจาก สรรพศิวิวิริยศิริให้ทำภาพยนตร์การ์ตูนโฆษณายาหม่อง โดยใช้ตัวการ์ตูนชื่อ “หนูหล่อ” เป็นตัวแสดงนำ ซึ่งได้รับความสำเร็จเป็นที่ติดตาติดใจเด็กๆ ในสมัยนั้นมาก

จากนั้นในปีพ.ศ. 2519 ปยุต ได้เริ่มผลิต ภาพยนตร์แอนิเมชัน เรื่อง “สุดสาคร” ซึ่งเป็นตัวละครเอกตัวหนึ่งจากวรรณคดีไทย เรื่อง พระอภัยมณี บทประพันธ์ของท่านสุนทรภู่ โดยความริเริ่มของจิรวรรณ กัมปนาทแสนยากร แห่งจิรบันเทิงภาพยนตร์ โดยคัดเลือกมาจากเรื่องราวเพียง 3 ตอนเริ่มตั้ง แต่ต้นกำเนิดสุดสาคร สุดสาครเข้าเมืองการเวก และสุดสาครตามหาพ่อ ภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องนี้ยังได้ไปร่วมในงานมหกรรมภาพยนตร์ที่กรุงไทเปประเทศไต้หวันอีกด้วย

เจ้าฟรีคิก สุดยอดไก่ชน เจ้าฟรีคิก สุดยอดไก่ชน เจ้าของค่าตัว 3,500,000 บาท ไก่ตัวเก่ง ที่ตอนนี้อยู่ภายใต้สังกัด ค่ายภานุเจริญฟาร์ม หรือหนุ่มโรงหมี่ เจ้าฟรีคลิก เจ้าของฉายา แข้งสั่งตาย

อ่านบทความน่าสนใจเพิ่มเติม : นักโทษประหารคนที่ 2 ของไทยผู้ไม่ยอมตาย